By: Boxing-Boy 


ANSON WAINWRIGHT คอลัมนิสต์ของ www.ringtv.com ได้นำเสนอบทความเรื่อง 'BEST I FACED: CHATCHAI SASAKUL' - ดีที่สุดที่เคยเผชิญของ 'ฉัตรชัย สาสะกุล' ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสื่อมวยโลกชื่อดังข้างต้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น และผู้เขียนได้กล่าวขอบคุณ 2 คนมวยอย่าง Takashi Aoshima และ Ken Takayama ที่ช่วยประสานงานเป็นอย่างดีจนทำให้บทความนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้สำเร็จ และต่อไปนี้จะเป็นการถอดความและลำดับเรียบเรียงเนื้อหาของบทความนี้ให้เป็นภาษาไทยที่อ่านเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้แฟนมวยชาวไทยทั้งหลายได้เข้าถึงและรับทราบถึงความน่าสนใจของบทความชิ้นนี้...



ฉัตรชัย สาสะกุล นักชกจากแดนสยามคนนี้ เคยเป็นนักมวยไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก (หนึ่งธรณี เพชรยินดี) ก่อนที่เขาจะหันเหมาชกมวยสากลสมัครเล่นและสากลอาชีพในเวลาต่อมา จนกระทั่งได้ครองแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตของ WBC ก่อนที่จะขึ้นป้องกันตำแหน่งเพื่อหวังที่จะยืดอายุในการครองแชมป์โลกของเขากับ แมนนี่ ปาเกียว นักชกฟิลิปปินส์โนเนม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกันเลยในวงการมวยโลก

ฉัตรชัยเกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 ที่จังหวัดนครราชสีมาของประเทศไทย และเขาเป็นบุตรคนโตของพี่น้องทั้งหมด 4 คนด้วยกัน

'บ้านของผมนั้นยากจนมาก พ่อกับแม่จึงพาผมเดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพตั้งแต่ผมอายุได้เพียง 4 ขวบ โดยคุณพ่อของผมนั้นมาทำงานเป็นคนขับรถส่งสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่วนคุณแม่นั้นค้าขายผลไม้หรือขนมไทย และก็เป็นแม่บ้านด้วย' ฉัตรชัยกล่าว



ฉัตรชัยเล่าต่อว่า 'พ่อของผมชอบดูมวยไทยมาก เขาก็เลยอยากให้ผมขึ้นชกบ้าง ผมจึงเริ่มหัดมวยตั้งแต่
อายุได้เพียง 7 ขวบเท่านั้น และผมก็ไม่ได้ชอบมันเอาเสียเลย (หัวเราะ) เพราะต้องซ้อมหนักมาก ผมตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 เพื่อไปซ้อมวิ่ง ก่อนที่จะไปโรงเรียนในตอนเจ็ดโมงเช้า และเมื่อผมเลิกจากโรงเรียนในเวลาบ่ายสามโมง ผมก็ต้องไปซ้อมมวยอีกจนถึงหกโมงเย็น จึงจะได้กลับบ้าน อาบน้ำ กินข้าว และก็ต้องเข้านอนตั้งแต่สองทุ่ม ซึ่งผมต้องทำอย่างนั้นทุกวัน จึงไม่ได้มีเวลาที่จะออกไปเล่นเหมือนกับเด็กคนอื่นเลย'

หลังจากขึ้นชกมวยไทยได้ประมาณ 150 ครั้ง เขาจึงได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนมาชกมวยสากลสมัครเล่นดูบ้าง

'ผมชกมวยไทยมาจนถึงอายุ 16 ปี จากนั้นจึงได้ขึ้นชกในแบบสากลสมัครเล่นครั้งแรก และผมก็สามารถที่จะคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ ก่อนที่จะติดทีมชาติไทยในเวลาต่อมา และรับใช้ชาติอยูนานถึง 5 ปีด้วยกัน ผมเคยได้เหรียญทองซีเกมส์ 2 สมัยทั้งที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้เหรียญเงินในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ปักกิ่ง จากนั้นจึงได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 1988 (พ.ศ. 2531)'

สำหรับการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกนั้น ฉัตรชัยสามารถที่จะคว้าชัยชนะได้ 2 ครั้ง ก่อนที่จะมาถูก โรเบิร์ต อิซัสเซกี้ เชือดแต้ม 3:2 เสียง ตกรอบก่อนรองชนะเลิศไปอย่างน่าเสียดาย

หลังจากพกความผิดหวังกลับบ้าน เขากลับมาคว้าเหรียญทองในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพอันทรงเกียรติของไทยเรา ในปี 2532 และ 2533 อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกให้เป็นเบสต์บ็อกเซอร์ของทัวร์นาเมนต์นี้อีกด้วย



อย่างไรก็ตามฉัตรชัยตัดสินใจยุติเส้นทางในการที่จะกลับไปแข่งโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1992 (2535) และตัดสินใจที่จะผันตัวมาขึ้นชกอาชีพ และประเดิมด้วยการชนะน็อคเอาท์ยกแรกเหนือต่อ เบิร์ต เรฟูจิโอ นักชกฟิลิปปินส์ในเดือนสิงหาคม 1991 (2534) และได้ค่าเหนื่อยเป็นจำนวนเงินราว 200,000 บาท (ประมาณ 5,600 ดอลลาร์สหรัฐฯในขณะนั้น)

ฉัตรชัยถูกมองว่าเขานั้นมีศักยภาพมากพอที่จะคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จตั้งแต่แรกเริ่มที่หันเหมาชกมวยสากลอาชีพ โดยเขาเทิร์นโปรได้อย่างงดงามด้วยการเอาชนะ KO1 เบิร์ต เรฟูจิโอ ในเดือนสิงหาคม 1991 (2534) และเพียงการชกครั้งที่ 4 เขาก็สามารถที่จะเอาชนะ TKO8 ริค มากราโม่ นักชกฟิลิปปินส์ ได้ครองแชมป์ฟลายเวต WBC International ที่ว่าง และป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้ 2 ครั้ง ด้วยการคว้าชัยชนะเหนือต่อนักชกมีระดับอย่าง อเล็กซานเดอร์ แม็คมูตอฟ (ชนะคะแนน 12 ยก) ที่ต่อมาได้ขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวตของ IBF แต่ไม่สำเร็จ รวมไปถึงอดีตแชมป์รุ่นไลต์ฟลายเวตของ WBC ชาวฟิลิปปินส์อย่าง โรแลนโด ปาสคัว (ชนะคะแนน 12 ยก) ด้วย

หลังจากเก็บชัยชนะรวดได้ถึง 20 ครั้ง ฉัตรชัยก็ได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์โลกครั้งแรกในชีวิต ด้วยการเดินทางไปเผชิญหน้ากับ ยูริ อาร์บาชาคอฟ แชมป์โลกรุ่นฟลายเวตของ WBC ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2538

ฉัตรชัยกล่าวว่าการการขาดประสบการณ์บนสังเวียนระดับโลกทำให้เขานั้นต้องพลาดหวังในการชิงแชมป์โลกหนแรก 'ผมตื่นเต้นมากกับการชกไฟต์นี้และซ้อมหนักมากจนเกินไป ผมซ้อมต่อเนื่องกันถึง 3 เดือน ซึ่งมันหนักมาก ร่างกายตึงเครียดไปหมด ทำให้เวลาชกจริงแล้วนั้นผมคิดได้แต่ทำอย่างใจคิดไม่ได้ จึงทำให้ผมต้องพ่ายแพ้ในวันนั้น อีกอย่างอาร์บาชาคอฟเขาก็มีสไตล์การชกที่สวยงามและหมัดก็เฉียบคมมากด้วย'

ฉัตรชัยกลับมาอุ่นหมัดคว้าชัยชนะได้หลายครั้ง และในปี 1996 (2540) อาร์บาชาคอฟก็ได้รับบาดเจ็บที่มือขวา และจะต้องใช้เวลานานถึง 15 เดือนในการพักฟื้นรักษาตัว ดังนั้นทาง WBC จึงอนุมัติให้ฉัตรชัยได้ชิงแชมป์เฉพาะกาลของรุ่นนี้กับ อิสเซียส ซามูดิโอ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2540 และเขาก็เอาชนะคะแนนคว้าแชมป์เฉพาะกาลรุ่นฟลายเวตของ WBC ไปครองได้สำเร็จด้วยการชนะคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ในกำหนด 12 ยก และหลังจากนั้นเขาก็ป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้หนึ่งครั้งด้วยการชนะ RTD7 ฮวน โดมิงโก คอร์โดบา ที่ได้ครองแชมป์รุ่นจูเนียร์ฟลายเวต WBO ในเวลาต่อมา 

และเมื่อเจ้าของแชมป์โลกตัวจริงหายบาดเจ็บ ฉัตรชัยจึงได้เดินทางมายังเมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เพื่อที่จะมาพิสูจน์แชมป์โลกหนึ่งเดียวกับทางอาร์บาชาคอฟ ที่ทางนักชกรัสเซียนั้นพึ่งจะหายจากอาการบาดเจ็บและไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมาเป็นเวลานาน ทำให้ฟอร์มการชกนั้นตกลงไปมาก ซึ่งสวนทางกับทางฉัตรชัยที่พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก

'ครั้งนี้ผมซ้อมเพียงแค่เดือนครึ่ง และความหนักก็เบาลง ในวันชกผมจึงรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าและประสบความสำเร็จในที่สุด ผมมีความสุขมากที่ได้ครองแชมป์โลก และผมก็ยังได้ค่าเหนื่อยที่สูงที่สุดด้วย คือ 220,000 ดอลลาร์ฯ และพอกลับมาเมืองไทยแล้วผมก็ได้รับการต้อนรับและเฉลิมฉลองในชัยชนะครั้งนี้ และผมก็ไปพักผ่อนที่ภูเก็ตกับครอบครัวประมาณหนึ่งสัปดาห์ด้วย' แชมป์โลกคนใหม่ ณ เวลานั้นกล่าวถึงความหลัง

ฉัตรชัยป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้  2 ครั้งเหนือต่อ ยอง จิน คิม (ชนะคะแนน 12 ยก) และ ยัง ซุน จาง (ชนะ TKO5) ก่อนที่จะพบกับนักชกหนุ่มที่ชื่อว่า แมนนี่ ปาเกียว ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 แม้ว่าเขาจะทำแต้มนำหน้าผู้ท้าชิงไปก่อน แต่ปาเกียวก็ยังคงไม่ย่อท้อและยังคงเดินบุกเข้าหาอย่างต่อเนื่องและในที่สุดนักชกที่ไม่มีคนรู้จักมากนักจากฟิลิปปินส์ก็ทำได้สำเร็จ

ฉัตรชัยยอมรับว่า 'ตอนนั้นผมมีปัญหาในครอบครัว ละเลยในเรื่องของการฝึกซ้อม และยังประเมินเขาต่ำเกินไปด้วยไป ผมดูเทปการชกของเขาแล้วคิดว่ายังไงผมก็เอาตัวรอดได้และต้องชนะได้แน่ๆ แต่เป็นผมที่คิดผิดเพราะเขานั้นเป็นนักสู้ที่มีจิตใจที่เข้มแข็งมากและไม่มีถอดใจยอมแพ้ง่ายๆ เขาบุกโจมตีผมตลอดเวลาและต่อยผมได้อย่างแรงๆหลายครั้ง พอหมดยก 4 ผมก็เริ่มเหนื่อยและหมดแรง ผมเองพยายามิย่างเต็มที่ที่จะผ่านการชกไฟต์นี้ไปให้ได้แต่มันก็ไม่สำเร็จ เพราะผมต้องแพ้เขาในยกที่ 8 เขาต่อยได้หนักมากเสียจนกว่าที่ผมจะรู้สึกตัวได้อย่างเต็มที่ก็ตอนที่กลับเข้าไปที่ห้องแต่งตัวแล้ว แต่แม้ว่าผมจะแพ้แต่ผมเองก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งนั้นเคยได้ชกกับเขา'

ฉัตรชัยกลับมาอุ่นหมัดทำฟอร์มได้อย่างดีถึง 19 ไฟต์ต่อเนื่อง ก่อนที่จะไปพ่ายคะแนนให้กับ คูนิยูกิ ไอซาวะ ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เขาก็ยังคงกลับมาอุ่นเครื่องต่อไปและชนะรวดอีกสิบกว่าครั้ง ก่อนที่จะได้รับโอกาสให้เดินทางไปชิงแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวตของ WBA และ WBC จาก คริสเตียน มิฮาเรส เจ้าของตำแหน่งชาวเม็กซิกัน ที่เมืองมอนเตร์เรย์ ประเทศเม็กซิโก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551

'ตอนนั้นผมเองเดินทางไปล่วงหน้าหนึ่งสัปดาห์ก่อนการต่อสู้ โดยจะต้องไปรอเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง แต่ที่นั่นกำลังมีพายุเข้าจึงทำให้นักบินไม่สามารถที่จะนำเครื่องเดินทางต่อไปได้บินต่อไปได้ ผมเลยต้องติดอยู่ที่ฮ่องกงเป็นเวลาถึง 2 วัน ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับมาตั้งหลักที่เมืองไทยอีกครั้ง โดยพัก 1 คืนและเปลี่ยนการเดินทางด้วยสายการบินแห่งใหม่ โดยครั้งนี้ผมต้องไปต่อเครื่องในแฟรงก์เฟิร์ตซึ่งต้องใช้เวลารอเปลี่ยนเครื่องนานถึง 9 ชั่วโมง ผมจึงสามารถที่จะเดินทางไปยังเม็กซิโกได้สำเร็จ ต่อจากนั้นจึงค่อยย้ายไปยังเมืองที่มีจะจัดการแข่งขันขึ้น พอผมเดินทางมาถึงก็ต้องเข้าร่วมการแถลงข่าวทันที ก่อนที่จะชั่งน้ำหนักในวันรุ่งขึ้น จากนั้นจึงก็เป็นวันชก'

'ผมเองรู้ตัวดีว่าแก่เกินไปสำหรับการต่อสู้ในครั้งนี้ ผมพยายามที่จะเตรียมตัวมาอย่างดีแล้วแต่ก็ยังไม่ดีพอ เพราะแชมป์นั้นยังอายุน้อยอีกทั้งยังเก่งมากด้วย นั่นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าฉัตรชัยจะโดนนับในยกที่ 2 ก่อนที่จะพ่าย TKO ไปในยกที่ 3 เท่านั้น

อดีตแชมป์โลกฉัตรชัยกลับมาอุ่นหมัดอีกแค่หนเดียว ก่อนจะประกาศแขวนนวมไปในที่สุด พร้อมทิ้งสถิติเอาไว้ที่ ชนะ 63 (38KO) แพ้ 4 และเสมอ 1 โดยหลังจากเลิกชกมวยเขาก็ได้ทดลองเปิดร้านอาหารในตอนแรก แต่ปัจจุบันนี้เขานั้นเป็นเจ้าของและผู้บริหารของ 'สาสะกุล ยิม' ที่มีลูกศิษย์ระดับแชมป์โลกอย่าง น็อคเอาท์ ซีพีเอฟ ซูเปอร์ เวิลด์ แชมเปี้ยน รุ่นมินิมั่มเวตของ  WBA และ เพชรมณี ซีพีเอฟ อดีตแชมป์โลกรุ่นสตรอวเวตของ WBC

'ตอนนี้ผมมุ่งเน้นไปที่การสร้างนักมวยรุ่นใหม่ๆ และผมเองก็รู้สึกสนุกกับการสอนมวยด้วย'  เขากล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ปัจจุบันฉัตรชัยมีอายุได้ 53 ปี สถานภาพสมรส และมีบุตรทั้งสิ้น 4 คน ด้วยกัน โดยเขาและครอบครัวนั้นพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี  ที่อยู่ทางชานเมืองของกรุงเทพมหานคร



ฉัตรชัยได้สละเวลาพูดคุยกับทีมงานของเดอะริงก์ เกี่ยวกับนักชกที่ดีที่สุดที่เขาเคยเผชิญหน้าด้วย โดยแบ่งออกเป็น 10 ประเภทหลักๆดังต่อไปนี้

ออกหมัดได้ที่ดีที่สุด
ยูริ อาร์บาชาคอฟ: ยูรินั้นมีพื้นฐานมาจากการเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นที่ดี ทำให้เขาออกหมัดได้อย่างแม่นยำ อีกอย่างหมัดของเขาหนักด้วย ผมโดนแต่ละทีก็รู้สึกเจ็บไปหมด

ป้องกันตัวที่ดีที่สุด
อิเซียส ซามูดิโอ: เพราะเขานั้นสั้นและเตี้ย ดังนั้นเมื่อเขายกแขนขึ้นการ์ดมันจึงไม่เหลือช่องว่างด้านหน้าของคางมากนัก ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะต่อยเขาให้ได้อย่างจะแจ้งใสสะอาด

ออกหมัดได้รวดเร็วที่สุด
แมนนี่ ปาเกียว: ปาเกียวเป็นนักมวยที่ขยันขันแข็ง จึงทำให้เขานั้นชกได้รวดเร็วมาก อีกอย่างเขาก็ยังมีหมัดชุดที่ต่อเนื่องด้วย

ฟุตเวิร์คที่ดีที่สุด
ยูริ อาร์บาชาคอฟ: ผมขอย้ำอีกครั้งว่าประสบการณ์ในแบบมวยสากลสมัครเล่นของเขามีความสำคัญมาก เขาเองก็มาจากทีมชาติรัสเซีย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่นักชกในทีมมวยสากลสมัครเล่นจะทำฝึกซ้อมฟุตเวิร์คกันเป็นประจำ และฟุตเวิร์คของเขานั้นก็ดูเป็นธรรมชาติมากๆ

ฉลาดที่สุด
แมนนี่ ปาเกียว: เขาเป็นนักชกที่ทั้งสามารถป้องกันตัวเองได้ดี และก็สามารถที่จะโจมตีคู่ต่อสู้ได้ตลอดเวลาด้วย เขาเข้าออกได้รวดเร็ว และมักที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์การชกเอาไว้ได้อยู่เสมอิ

แข็งแกร่งที่สุด
แมนนี่ ปาเกียว: เขาแข็งแกร่งกว่านักชกรุ่นฟลายเวตคนอื่นๆ ดังจะเห็นได้ว่าเขาขึ้กกับผมด้วยความตั้งใจเป็นอย่างมาก และพยายามที่จะบุกเข้าใส่ผมตลอดเวลาตั้งแต่ยกแรก

หมัดหนักที่สุด
แมนนี่ ปาเกียว : พลังกำปั้นของเขาทำให้ผมต้องรู้สึกเจ็บตัวมากๆในทุกๆครั้งที่เขาต่อยโดนผม

คางหินที่สุด
อิเซียส ซามูดิโอ: ผมต่อยเขาได้จะๆจังๆหลายต่อหลายครั้ง แต่เขากลับไม่แสดงอาการใดๆออกมาเลย

ทักษะมวยที่ดีที่สุด
ยูริ อาร์บาชาคอฟ: เขามีสไตล์การชกและมีการเคลื่อนไหวที่สวยงาม เมื่อใดที่คุณพลาดเขาก็จะให้คุณกลับคืนด้วยหมัดขวาที่คมกริบและหนักหน่วง

ดีที่สุดโดยรวม
แมนนี่ ปาเกียว: คู่ต่อสู้ของผมทุกคนมีสไตล์การชกที่แตกต่างกัน และแมนนี่ก็ไม่มีรูปแบบที่ตายตัวด้วย เขาพยายามที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาที่ทำการแข่งขัน เขาใส่ใจในทุกๆหมัดของเขาที่ออกไป และหมัดของเขานั้นก็ทรงพลังมากๆ อีกอย่างเขานั้นเป็นนักมวยที่มีระเบียบวินัย สูงด้วย ตอนที่เราชกกันนั้นเขาอายุเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น และการชกกับผมในไฟต์ดังกล่าวนั้นทำให้เขานั้นมีการพัฒนามากขึ้น เขาเป็นนักชกที่อุทิศเวลาแทบจะทั้งหมดในการฝึกซ้อม และประกอบกับความตั้งใจที่มีสูงมากของเขา ดังนั้นเขาจึงสามารถที่จะคว้าแชมป์โลกได้หลายพิกัดรุ่นไปจนถึงรุ่นซูเปอร์เวลเตอร์เวต เขาจึงเป็นหนึ่งในนักมวยที่สามารถที่จะพูดได้อย่างเต็มปากว่าเก่งที่สุดในโลกจริงๆ

Original Photo Credit: Aqui Zonio via www.spin.ph   
* ของดบริการอ่านข้อความให้ฟังชั่วคราวนะครับ (น่าจะกลับให้บริการได้ใหม่ในปี 2567)

Post a Comment

ใหม่กว่า เก่ากว่า